หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การศึกษาทางไกล จะเดินไปทางไหน (ตอนที่1)

ได้มีโอกาสพบกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษานอกระบบ ตามหลักสูตรใหม่ หรือหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 หลายท่าน หลายระดับ และหลายหน้าที่ ได้ตั้งคำถามว่า ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ตามวิธีเรียน กศน. ได้จัดรูปแบบใดบ้าง
  • คนตอบจะงงนิดๆ จึงต้องขยายความว่า วิธีเรียน กศน. มีหลายรูปแบบเช่น พบกลุ่ม ชั้นเรียน ตนเอง ทางไกล ตอนนี้ เขาจะร้องอ๋อ แล้วบอกว่า ส่วนมากจะใช้รูปแบบการพบกลุ่ม จึงลองถามเข้าประเด็น ว่า ได้มีการนำเอารูปแบบทางไกลมาใช้หรือไม่ เข้าจะตอบด้วยความมั่นใจ ว่าใช้ เมื่อถามต่อไปว่า ทำอย่างไร ก็จะได้รับคำตอบว่า ให้ไปศึกษาค้นคว้าจากอินเทอร์เน็ต ทำให้สงสัยมากขึ้นว่า ค้นคว้าอย่างไร ที่ไหน ก็ได้รับคำตอบว่า จริงๆแล้ว แทบจะไม่มีเลย ที่มีก็คือ ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์จาก ศูนย์ กศน. อำเภอ หรือ กศน. ตำบล ที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ และจะมีนักศึกษาบางคนเท่านั้น ที่สามารถ ใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ และเมื่อถามความคิดเห็นต่อไปว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะให้นักศึกษา กศน. เรียนรู้ผ่านทางอินเทอร์เน็ต คำตอบที่ได้รับเหมือนกันหมดคือ คงเป็นไปได้ยาก จากคำตอบที่ได้รับดังกล่าว ทำให้คนที่พยายามจะผลักดันเรื่อง วิธีเรียนทางไกล ในรูปแบบ e-Learning ถึงกับจิตใจห่อเหี่ยวหมดกำลังใจที่จะพัฒนาไปเลย
  • ถึงแม้จะหมดกำลังใจ ก็ลองพยายามถามใหม่ว่า เคยเข้ารับการอบรมทางไกลแบบ e-Training หรือไม่ ทุกท่านที่สนทนาด้วยตอบว่าเคย จึงถามต่อว่า ถ้าจะให้นักศึกษามาเรียนผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์แบบที่ครูเคยเรียน เป็นไปได้ไหม คำตอบก็คือ คงจะยาก นอกจากนักศึกษาทึ่เคยเรียนในระบบโรงเรียนและยังเป็นวัยรุ่น จากคำตอบจึงเริ่มรุกด้วยคำถามต่อไปว่า ถ้าจะให้ครูช่วยแนะนำวิธีการเรียนตามวิธีการที่ครูเคยเรียน จะได้ไหม จะได้รับคำตอบแบบไม่ค่อยมั่นใจว่า อาจจะได้สำหรับนักศึกษาบางคน แต่จะมีปัญหาว่า นักศึกษาไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ จึงให้ข้อเสนอใหม่ว่า ถ้าเปิดเรียน ที่ ศูนย์ กศน. อำเภอ หรือ กศน. ตำบล ที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ จะแก้ปัญหานักศึกษาไม่มีเครื่องคอม พิวเตอร์ได้หรือไม่ คำตอบก็คือ พอได้ แต่จะมีปัญหาที่อินเทอร์เน็ตช้า มาถึงตอนนี้ ชักท้อใจอีกแล้ว เพราะคำตอบก่อนหน้าว่าพอเป็นไปได้ แต่ปัญหามากมายจริงๆ จึงต้องถามต่อไปอีกว่า ถ้าไม่ต้องใช้อินเทอร์เน็ต แต่เรียนจากแผ่น CD-ROM จะเป็นไปได้ไหม คำตอบเริ่มดีขึ้นคือ น่าจะเป็นไปได้ แต่คงทำไม่ได้ทั้งหมด จึงถามว่า ประมาณเท่าไร สิบเปอร์เซ็นต์ ได้หรือไม่ ก็ได้รับคำตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่า อาจจะได้ เริ่มตั้งคำถามเจาะลึกถึงบทเรียนว่า ถ้าเป็นแบบเรียนที่ใช้กับครู คือตัวหนังสือประกอบรูปภาพ นักศึกษาจะสนใจมาเรียนหรือไม่ จะได้รับคำตอบที่ได้ค่อนข้างมั่นใจว่า นักศึกษาคงไม่สนใจ เพราะดูจากหนังสือแบบเรียนที่มีนักศึกษายังไม่ค่อยสนใจอ่าน ถ้าอย่างนั้นก็เป็นอันจบกันสำหรับ e-Learning
  • แต่ก็ยังไม่ละความพยายาม ถามต่อไปอีกว่า การพบกลุ่มของครู ศรช. หรือครูประจำกลุ่มทุกวันนี้ ได้พบกลุ่มหรือสอนทุกวิชาหรือไม่ คำตอบก็เป็นดังคาดคือ ไม่ทุกวิชา เพราะบางวิชา ครูก็ไม่ถนัดเช่น ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ก็ต้องให้ครูมาสอนเสริม หรือไม่ได้ทำอะไรเลย จึงย้อนถามกลับไปว่า แล้วเราจะแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งจะไม่ค่อยได้รับคำตอบนัก จึงเสนอแนวทางให้พิจารณาว่า ถ้าหากเราบันทึก วีดิโอ ของครูที่สอนเก่งๆ เช่น ครูที่สอนภาษาอังกฤษตามหลักสูตรของ กศน.เก่งๆ แล้วบันทึกใส่แผ่น CD แล้วเอาไปเปิดให้นักศึกษาเรียน จะช่วยได้หรือไม่ คำตอบที่ออกมาเป็นเสียงเดียวกันคือ ดีมาก และจะช่วยครูได้มาก คำตอบสุดท้ายนี้คือคำตอบที่เป็นแนวทางให้กลับมาคิดและพิจารณาว่า จะทำอย่างไร ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ที่ได้รับคำตอบมาจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษานอกระบบ โดยเฉพาะการศึกษานอกระบบตามหลักสูตร การศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

(คอยติดตามตอนที่ ๒)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น