วันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552
หรือว่า มหาวิทยาลัย เป็นต้นตอของปัญหาทั้งหลาย
ช่วงนี้เป็นฤดูการสอบเรียนต่อมหาวิทยาลัย ถึงแม้จะเลยช่วงเลาที่ลูกจะต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยมาแล้ว แต่ก็ยังจำได้ดี ว่าตอนนี้ ในใจมีความวิตกกังวลไปกับลูก เพราะดูเหมือนว่า การกำหนดอนาคตของคนส่วนมาก อยู่ที่การเรียนต่อมหาวิทยาลัยนั่นเอง หลายสิ่งหลายอย่างในอนาคตของแต่ละคน จะอยู่ที่การเชื่อมต่อจากการเรียนในมหาวิทยาลัย เรื่องแรกแน่ๆ คือ การทำงาน ซึ่งหมายถึงความมั่นคงในชีวิตข้างหน้าจนถึงตาย (ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ทุกคน)ชีวิตครอบครัว ก็อาจจะเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัย รวมทั้งนิสัยใจคอบางอย่างก็เริ่มจากมหาวิทยาลัย หรือก่อนที่จะเข้ามหาวิทยาลัย โดยมีเงื่อนไขของการเข้ามหาวิทยาลัยเข้ามาเป็นต้นเหตุ
ย้อนอดีตไปถึงสมัยเด็ก สถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทย มีไม่กี่แห่ง ส่วนมากก็คือ มหาวิทยาลัยดังๆ ในปัจจุบัน ที่คนแห่ไปเข้ามากที่สุดคือ จุฬา และ ธรรมศาสตร์ ซึ่งสมัยนั้น จะไปสอบตรง ต้องการเข้าที่ไหน ก็ไปสมัคร และสอบที่นั่น อีกแห่งหนึ่งที่ผู้ชายต้องการไปเรียนกันมาก คือ โรงเรียนนายร้อย และคนที่สามารถไปเรียนในมหาวิทยาลัยหรือเรียนว่า ระดับอุดมศึกษาได้ จะต้องผ่านการเรียนในระดับเตรียมอุดม ก่อน คือเข้าเรียนในระดับ ม.ศ.4 และ ม.ศ.5 เพื่อเป็นการเตรียมตัวไปเรียในระดับอุดมศึกษา ลูกหลานครอบครัวไหน สอบเข้าได้ จะมีข่าวเล่าลือกันทั้งตำบล เป็นที่เชิดหน้าชูตราของครอบครัว คนที่ไม่ได้เรียนเตรียมอุดม ก็เข้าทางสายครู หรือไม่เช่นนั้นก็ทางสายช่าง
ต่อมาเมื่อมหาวิทยาลัยมากขึ้น คนเรียนจบ ม.ปลายมากขึ้น การสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็ใช้การสอบรวม เรียกว่า สอบ Entrance จำได้ว่า ตอนที่เราสอบมีให้เลือกได้ 6 คณะไปสมัครกันที่ศาลาพระเกี้ยวของจุฬใ เมื่อสอบเสร็จ ไปดูผลสอบกันที่สนามกีฬาของจุฬา ส่วนมากก็จะสอบเข้าไม่ได้ หน้าจ๋อย เดินทางกลับต่างจังหวัด
เล่ามานี้เพื่อให้เห็นว่า สังคมค่อยไปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพราะคนมากขึ้น การเข้ามหาวิทยาลัย เป็นเรื่องของชีวิต เป็นเรื่องของการแข่งขันสูงมาก เป้าหมายของการศึกษากลายเป็นเรียนเพื่อทำข้อสอบ ใครสอบเก่ง ก็มีอนาคตที่ดี เพราะมหาวิทยาลัยเป็นตัวำหนดอนาคต อยากให้การศึกษาไทยเป็นอย่างไร ก็ทำข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นอย่างนั้น ถ้าต้องการให้สังคมไทยสมานฉันท์ ไม่แตกแยกอย่างทุกวันนี้ ลองเอาพฤชติกรรมการสมานฉันท์ เป็นเกณฑ์ในการเข้ามหาวิทยาลัย อาจจะช่วยแก้ปัญหานี้ก็ได้
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น