หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2552

ทดสอบเพื่ออะไร

ควันหลงจากการตรวจเยี่ยมสนามสอบอีกครั้ง แต่เป็นคำถามที่ค้างค่าใจจากการรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ ระหว่างที่ได้พูดคุยระหว่างการไปตรวจเยี่ยมแต่ละสนามสอบ ซึ่งบุคคลสามฝ่ายที่คุยกันนั้น คุยกันต่างเวลา ต่างสถานที่ ต่างสถานการณ์กัน ไม่ได้คุยพร้อมกัน ดังนั้นข้อมูลที่เกิดจากการพูดคุยจึงไมได้ต่อเนื่องหรือสถานการณ์เดียวกัน โดยบุคคลทั้ง 3 กลุ่มได้แก่ นักศึกษาที่เข้าสอบ ครู และผู้บริหารสถานศึกษา
  • กลุ่มนักศึกษา เป็นกลุ่มแรกที่ขอยกมากล่าวถึง เริ่มจากการคุยถึงสภาพทั่วๆไปของการสอบ ประเด็นที่จะได้คำตอบตรงกันออกมาคือ ข้อสอบยาก โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ ดูเหมือว่า ถ้าถามประเด็นนี้ที่ไหน ก็จะได้รับคำตอบที่ตรงกันเกือบทั้งหมด ส่วนประเด็นอื่นๆ ถ้าคุยลึกลงไป ผู้ที่มักจะตอบคำถามได้มากและพูดคุยได้ตรงคือ นักศึกษาที่เป็นผู้สูงอายุ แต่ถ้าเป็นนักศึกษาที่เป็นเยาวชนมักจะไม่ค่อยตอบคำถามอะไรมากนัก คำถามที่ชอบถาม ก็คือ ทำไมจึงมาเรียน กศน. คำตอบก็คือ ต้องการได้ความรู้ ต้องการนำเอาความรู้ไปใช้ประโยชน์ แต่บางกลุ่มก็ไม่ตอบโดยตรงเพียงแต่รู้ว่า ต้องเอาวุฒิไปเพื่อสมัครงานหรืออื่นๆ ที่ต้องมีวุฒิทางการศึกษากำหนด ยังไม่รวมกับคำตอบที่ตอบซื่อๆ แบบชาวบ้านว่า ฉันไม่เคยเรียนเลย ครูมีจดหมายแจ้งให้มาสอบก็มา

เมื่อวิเคราะห์คำตอบของกลุ่มแรกคือนักศึกษาจะเห็นว่า ความต้องการแยกเป็น 2 เรื่องที่อาจจะสัมพันธ์กันหรือไม่ก็ไม่รู้ คือเรียนเพื่อเอาความรู้ กับเรียนเพื่อเอาวุฒิ ซึ่งทั้งสอบกลุ่มนี้ดูเหมือนว่า ไม่ค่อยพึงพอใจกับการสอนเท่าไรนัก เพราะความรู้บางเรื่องเขาก็ต้องการ แต่บางเรื่องก็ไม่ต้องการ เช่นชาวไร่ชาวนา ที่ต้องมาสอบภาษาอังกฤษ โดยที่อ่านภาษาอังกฤษ ไม่ออกเลย แต่เมื่อหลักสูตรบังคับให้เรียนก็ต้องเรียน ขณะที่ผู้ที่ต้องการเอาวุฒิ ก็ไม่ค่อยพึงพอใจกับการสอบนักเพราะการสอบ เป็นเรื่องที่สกัดกั้นการได้วุฒิทางการศึกษาเนื่องจากข้อสอบยากเกินไป แต่ดูเหมือนว่า กลุ่มที่สบายในที่สุดก็คือ กลุ่มที่มาเรียนตามความต้องการของครู เพราะการมาสอบถือว่า ได้ทำตามความต้องการของครูแล้ว ส่วนจะได้หรือไม่นั้น ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

  • กลุ่มครู เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้มีโอกาสพูดคุยซักถามประเด็นต่างๆ แต่สองคำถามที่ต้องถามทุกที่คือ ข้อสอบมีปัญหาหรือไม่ คำตอบทุกที่เหมือนกันคือ ไม่มีปัญหา แต่ข้อสอบค่อนข้างยาก แม้แต่ครูยังทำไม่ได้ ส่วนคำถามที่มักจะถามในบางห้องที่มีนักศึกษาขาดสอบมากๆ โดยเฉพาะห้องที่มาสอบไม่ถึงครึ่งว่าเพราะอะไร ถ้าถามครูที่คุมสอบ ก็มักจะไม่ค่อยได้คำตอบ เพราะไม่ใช่เป็นครู กศน. เป็นครูโรงเรียนในระบบโรงเรียนที่มาคุมสอบเฉยๆ แต่ถ้าถามครู กศน. ก็ได้คำตอบที่หลากหลาย เช่น ไปทำงานกรุงเทพ ไม่สามารถมาสอบได้ หรือถ้าเป็นนักศึกษาระดับประถมศึกษาซึ่งส่วนมากเป็นผู้สูงอายุและไม่มาสอบ ก็มักจะบอกเหตุผลว่า ไม่ว่าง ติดงานสำคัญ หรือไปพบคำตอบแห่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ การที่เด็กไม่มาสอบเพราะเคยสอบไม่ผ่านมาแล้ว และลงทะเบียนใหม่ จึงไม่อยากมาสอบ เพราะคิดว่า มาสอบก็คงไม่ผ่านอีก

เมื่อวิเคราะห์ในกลุ่มของครูเริ่มที่ประเด็นแรกที่บอกว่าข้อสอบยากเกินไป ถ้ามองในประเด็นหลักการวัดผล ก็ต้องถามว่า แบบทดสอบของเราต้องการวัดอะไร และข้อสอบนั้นยากเกินไปจริงหรือไม่ และถ้าข้อสอบยาก จะสามารถวัดผลได้ตามความต้องการของหลักการวัดผลหรือไม่ เพราะข้อสอบและการวัดผลนั้นมีหลายวัตถุประสงค์ ถ้าต้องการสอบเพื่อคัดเลือก ข้อสอบก็จะมีลักษณะเด่นไปอย่างหนึ่ง ถ้าการวัดผลเพื่อการจำแนกคน ข้อสอบก็จะเป็นอย่างหนึ่ง ถ้าข้อสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถที่แท้จริงของคน ข้อสอบก็จะออกมาอย่างหนึ่ง ก็ต้องถามว่า การวัดผลปลายภาคเรียนของเรา ต้องการวัดอะไรจากนักศึกษา และแบบสดสอบนั้นวัดได้ตรงหรือไม่

  • กลุ่มที่สาม คือกลุ่มผู้บริหาร เป็นกลุ่มที่มีโอกาสพูดคุยด้วยน้อยมาก เพราะไม่ค่อยได้มีโอกาสพบ ส่วนมากที่ถาม ก็จะเป็นคำถามในเชิงการบริหารงานเช่น วิธีการทดสอบแบบนี้เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งเป็นคำถามที่กว้างมาก หรือคำถามเช่นเดียวกับครู แต่ถามคนละอย่างคือ ทำอย่างไร จะให้เด็กมาเข้าสอบมากขึ้น ซึ่งจะเกี่ยวโยงไปถึงกระบวนการทั้งหมดของการจัดการศึกษา ซึ่งคำตอบจะเป็นคำตอบเชิงนโยบาย แต่คำถามจะแฝงไปด้วยความต้องการที่จะแก้ปัญหาเรื่องการ Drop out เพราะมันเชื่อมโยงไปถึงความสูญเปล่า ของการจัดการศึกษา ที่มีการจ่ายงบประมาณรายหัว หัวละพันกว่าบาท ดังนั้น คำถามนี้ จึงมักจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องว่า ทดสอบเพื่ออะไร แต่จะเป็นคำถามว่า ทำอย่างไรให้นักศึกาามาทดสอบมากกว่า

จากข้อมูลการทดสอบปลายภาคเรียนครั้งนี้ เป็นเพียงเสี้ยวหนึงของกระบวนการจัดการศึกษานอกระบบเท่านั้น ถ้าเอาข้อมูลทุกส่วนมาปะติดปะต่อกัน ตั้งแต่นักศึกษาเดินเข้ามาในรั้ว กศน. จนกระทั่งจบออกไป บางทีนักการศึกษานอกโรงเรียนอาจจะได้ประเด็นที่ต้องกลับมาคิดทบทวนว่า การศึกษานอกโรงเรียนคืออะไรกันแน่ และที่เราทำอยู่มันใช่หรือไม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น